วันอังคารที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2553

Jam Hub

สวัสดีครับ แวะไปเอาคอมมิวสิคเล่มใหม่ที่โรงเรียนปราชญ์มิวสิค ก็เห็นกล่องใหญ่ๆอันนึงวางไว้ จึงถูกวานให้นำกลับบ้านไปลองเล่นดู เจ้ากล่องที่ว่านี้ก็คือตัว Jamhub นั่นเอง เห็นลงโฆษณาในเว็บไซต์ต่างประเทศมาพักนึง ไม่นานก็มีผู้นำเข้ามาให้นักดนตรีบ้านเราได้เล่นกัน


จากรายละเอียดขณะยังไม่ได้แกะกล่อง แจมฮับ! คือทางเลือกใหม่สำหรับการซ้อมดนตรีโดยไม่ใช้เสียง กล่าวคือนักดนตรีทุกคนจะสามารถแจมดนตรีกันได้ในห้องสมมติโดยฟังอยู่ในหูฟังนั่นเอง

ห้องสมมติที่ว่าผู้ผลิตกำหนดมา 3 แบบ แจมฮับเลยผลิตมา 3 รุ่น ดังนี้
1. Bed Room หรือ ห้องนอนนั่นเอง คุณสามารถซ้อมดนตรีในห้องนอนดังแค่ไหนก็ได้ สูงสุด 5คน
2. Green Room สำหรับนักดนตรี 7 คน โดยขจัดปัญหาการแข่งกันดัง พกไปแจมที่ไหนก็ได้
3. Tour Bus มีระบบบันทึกเสียงในตัวเลย ระหว่างทัวร์คอนเสิร์ต เวลาที่คุณซ้อมดนตรีในรถหรือแจมดนตรีฆ่าเวลา ซึ่งอาจเกิดเพลงใหม่ๆขึ้น รุ่นนี้สามารถบันทึกเสียงไว้ได้โดยไม่ต้องพึงคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ภายนอก

ภายในกล่องมีอะไรบ้าง

เมื่อแกะกล่องมาลองดู แค่เห็นก็รู้วิธีใช้งาน แจมฮับเป็นกล่องรูปประมาณครึ่งวงกลม แล้วแบ่งเป็นส่วนๆเหมือนการตัดแบ่งเค้กหรือพิซซ่า โดยแต่ละส่วนก็มีปุ่มปรับเสียงสำหรับนักดนตรีแต่ละคน เมื่อเสียบปลั๊กแล้วก็ใช้ได้เลย


ในแต่ละส่วนนั้น สามารถต่อ ไมโครโฟนสำหรับร้องหรือพูด, Lineจากเครื่องดนตรี และหูฟัง สำหรับนักดนตรีแต่ละคนได้อิสระ เมื่อทุกคนที่ต้องการเข้ามาแจมก็สามารถเสียบเข้ามาในส่วนที่ว่างอยู่ ก็จะได้ยินเสียงจากนักดนตรีคนอื่นๆและของตัวเองได้ที่หูฟังของตัวเองทันที


ภาคการปรับเสียงนั้น จะมีปุ่มปรับความดังเสียงจากนักดนตรีแต่ละคนและของตัวเอง ดังเบาได้ตามต้องการ ช่วยให้นักดนตรีแต่ละคนสามารถมิกซ์เสียงของทุกคนได้ตามถนัดและที่ต้องการในหูฟังของตัวเอง ตย.เช่น ต้องการฟังเสียงกลองดังแต่ไม่ต้องการฟังเสียงกีตาร์โซโล่ดังมากนัก ในขณะที่นักดนตรีคนอื่นๆก็ต่างปรับตามใจชอบ จึงตัดปัญหาเดิมๆของการซ้อมดนตรีนั่นคือ ทุกคนพยายามจะแข่งกันดังกว่า เพราะต่างไม่ได้ยินเสียงของตัวเอง และเมื่อเสียงดนตรีดังมากๆก็จะไม่ได้ยินเสียงร้อง แต่ที่แจมฮับนั้น สามารถเพิ่มเสียงร้องได้โดยที่ไม่เกิดอาการไมค์หอน หรือ feedback

จากความสามารถนี้ดังนั้นแจมฮับจึงเหมาะกับการใช้งานหลายประเภททีเดียว นอกจากการซ้อมดนตรี
นอกจากการบาลานซ์ความดังของแต่ละเสียงของนักดนตรีได้ของใครของมันแล้ว ยังมีการเพื่มเสียง FX ให้กับไมโครโฟนของตัวเองได้ด้วย ใครชอบเอฟเฟคเยอะหรือน้อยก็ปรับได้เอง และสามารถปรับ Pan ตำแหน่งของตัวเองในวงเพื่อสร้างมิติในการฟังได้

ในการใช้งานตามวัตถุประสงค์นั้นจำเป็นจะต้องเป็นเครื่องดนตรีไฟฟ้าทั้งนั้น และต้องเป็น Stereo อีกด้วย สำหรับมือกลอง หรือ มือเพอร์คัสชั่นจึงต้องใช้กลองไฟฟ้าจึงสามารถแจมได้ และมือกีต้าร์, มือเบสก็เช่นกัน หากใช้ FX ประเภทจำลองตู้แอมป์และเอาท์พุทเป็นสเตอริโอนั้นจะได้ผลตรงตามการออกแบบมาก อย่างไรก็ตาม Jamhub ได้แถมหัวแปลงจากแจ๊คโมโนเป็นสเตอริโอมาให้ หากมือกีตาร์หรือมือเบสจำเป็นจะต้องเสียบตรงทันที จากการลองเสียบตรงแบบนี้ดูพบว่า เสียงที่ได้ออกมาไม่เลว ทั้งกีตาร์และเบสครับ Clean นุ่มครับ


เงื่อนไขอีกอย่าง คือ Headphone ที่ใช้นั้นควรจะมีคุณภาพดีพอควร จึงจะแจมได้อรรถรสเพียงพอ ทำให้นักดนตรีแต่ละคนนั้นเตรียมอุปกรณ์ส่วนตัวได้ตามความชอบเอง

แจมฮับบนโต๊ะสำหรับนักดนตรีแนว Desktop

ในกรณีที่นักดนตรีที่ต้องอยู่ห่างจากตัวแจมฮับที่เป็นศูนย์กลาง และไม่สะดวกที่จะเดินมาปรับบ่อยๆ เช่นมือกลอง, มือคีย์บอร์ด หรือมือกีตาร์จอมขี้เกียจ ก็มีตัวรีโมทสำหรับปรับมาให้เสียบหูฟังได้มาให้ ซึ่งมีสายยาว 3.6ม. สำหรับรุ่น Green Room นี้แถมรีโมทมาให้ 1 อัน


แจมฮับทุกรุ่นจะมีภาคของการมิกซ์เพื่อบันทึกเสียงอยู่ตรงแกนกลางของเครื่อง โดยสมาชิกนักดนตรีที่เป็นหัวหน้าวงหรือสามารถรับผิดชอบเรื่องการบาลานซ์ซาวด์รวมของวงดนตรีได้จะเป็นผู้ควบคุมส่วนนี้ ซึ่งต้องประจำที่ผู้เล่นเบอร์ 1 จึงจะสามารถเลือกฟังสลับระหว่างซาวด์ที่มิกซ์เพื่อบันทึกเสียงหรือซาวด์แบบที่ปรับเพื่อซ้อมของตัวเองได้
สำหรับผลที่ได้จากการปรับมิกซ์ซาวด์รวมของวงเพื่อบันทึกเสียงนั้น สามารถส่งไปยังคอมพิวเตอร์ทางสาย USB บันทึกเข้าตรงกับซอฟแวร์ที่คุณถนัดได้ทันที จากการทดสอบนั้นคุณภาพที่ได้เหมือนกับที่ได้ยินในเฮดโฟนทีเดียว โดยจะบันทึกไปเป็น 2 Tracks หรือ Stereo Mix ซึ่งเรียกว่าไม่ยุ่งยากอะไรเลย หากคุณต้องการต่อ เอาท์พุทในแบบ Analog Line out ไปยังเครื่องขยายเสียง PA ก็มีช่องเสียบแบบ Phone Stereo ได้ทันที ทีนี้การเล่นดนตรีที่ทุกคนสามารถปรับเสียงยังได้ตามใจ แล้วได้ผลรับออกไปกำลังดีก็ทำได้ง่ายดาย


ในส่วนของผู้เล่นคนสุดท้ายนั้นสามารถต่อกับไมโครโฟนแบบ Condenser ที่ต้องการ Phantom +48V ได้


สำหรับไอเดียในการใช้งานนอกเหนือจากการซ้อมดนตรีแล้ว คิดว่าในงานสอนดนตรีนั้นน่าจะมีความสะดวกอย่างยิ่ง
ในงานสอนดนตรีแบบตัวต่อตัวหรือแบบวงแล้ว บ่อยครั้งก็มีปัญหาในเรื่องการควบคุมความดังเสียง และทั้งยังต้องการการสื่อสาร สนทนาพูดคุยระหว่างผู้สอนและผู้เรียน การใช้แจมฮับประกอบการสอนน่าจะเป็นไอเดียที่ทำให้เกิดการพัฒนาในการฝึกซ้อม และที่สำคัญเสียงจะไม่ดังไปถึงห้องเรียนข้างๆแน่นอน

ในกรณีเครื่องอะคูวสติคที่มีเสียงเบา สามารถใช้ไมโครโฟนดึงเสียงให้ได้ยินชัดเจนในหูฟังได้สบาย

เนื่องจากจุดเด่นในเรื่องของการ monitoring จึงอาจจะนำไปประยุกต์ใช้ในงาน Live เพื่อทำงานแบบ Ears Monitor หรือแม้แต่การ Monitor ด้วย Loud Speaker ตามปกติ สามารถเสริมการใช้งาน Aux send ที่มีจำกัดของ Mixer board ได้

การ Monitoring ในงาน Live Studio Recording แน่นอนว่าคงช่วยเสริมให้การฟังใน Headphone ง่ายขึ้น

การทดลองใช้ในแบบอื่นๆนั้นสามารถพลิกแพลงทำนอกเหนือคู่มือได้ จึงอาจนำภาคไมโครโฟนไปใช้กับเครื่องดนตรีได้ตามใจ Jamhub จึงอาจเป็น Mixer ตัวใหม่ที่เป็นประโยชน์สำหรับนักดนตรีหลายๆแนว

สรุปข้อดีข้อด้อย
- ออกแบบสำหรับการ monitoring แบบ Headphone ที่ดี คงทำให้นักดนตรีที่ไม่ชอบใช้ “Headphone” กลับมาเรียนรู้ประโยชน์ข้อนี้ดู
- หากคุ้นเคยกับการทำงานแบบนี้ จะสามารถพัฒนาทั้งทักษะการฟังและการปรับวิธีเล่นเพื่อการฟังได้มากมาย
- อย่าลืมว่าเมื่อมีทักษะการฟังและการเล่นที่ดีแล้ว ในการทำงานแบบชีวิตจริงที่ไม่ใช้หูฟังก็ยังคงควบคุมได้ดีด้วย
- น่าจะออกแบบมาแบบใช้กับ Battery ได้ด้วย จึงจะเรียกว่าแจมได้ทุกสภาวะ
- คงต้องเตรียมอุปกรณ์เสริมให้พร้อมสำหรับการใช้งานที่ได้ผลกับนักดนตรีทุกคน
- ลองเองดูครับ

เมื่อ Jamhub มาเยือนหนุ่มๆที่ร้าน Music Collection

แผนภาพวิธีการต่อใช้งานทั่วไป

วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

Tape Echo

ผ่านเข้ามาสู่ปี 2010 ซึ่งเทคโนโลยีในการผลิตงานดนตรีนั้นไปไกลสุดๆ สำหรับผมที่เป็นนักเขียนที่นำเสนอเทคโนโลยีใหม่ๆมาตลอด 10ปีที่ผ่านมานั้น อยากจะลองนำเสนอเทคโนโลยียุคเก่าที่ยังคงความชาญฉลาดที่เป็นอมตะให้ผู้อ่านยุคปัจจุบันอ่านกันเพลินๆสลับไปบ้าง
มีเครื่องมือตัวหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังซาวน์ดนตรี Avanguard ในหลายๆงานเพลงระดับขึ้นหิ้ง ผมกำลังจะพูดถึง “Tape Echo” ซึ่งก็คือเครื่องทำเสียงเอฟเฟคท์ประเภทดีเลย์นั่นเอง ซึ่งในเอฟเฟคท์สมัยใหม่ของมือกีตาร์ยุคนี้นั้น จะมีดีเลย์ให้เลือกใช้อยู่จนเป็นเรื่องธรรมดา สำหรับตัวเทปเอคโค่ที่จะเล่าให้ฟังนั้น จะมีความพิเศษและวิธีการแตกต่างไปจาก Digital Delay ทุกวันนี้ยังไง ลองติดตามอ่านดูครับ

Roland RE-201 “Space Echo”

หวังว่าผู้อ่านที่เป็นวัยรุ่นคงเคยใช้งานเครื่องเล่นเทปกันมาบ้าง จะขออธิบายถึงวิธีการทำงานของเทปเอคโค่ก่อน เจ้าเครื่องมือนี้จะทำการบันทึกเสียงที่ป้อนเข้ามาลงบนแถบบันทึกเสียง หรือเทปแม่เหล็กนั่นเอง แล้วนำเสียงที่บันทึกนั้นกลับมาเล่นให้ฟังด้วยหัวอ่านเทปที่อยู่ถัดไปตัวอื่นๆ ก่อนที่มันจะถูกลบด้วยเสียงที่เข้ามาใหม่ เกิดเป็นเอฟเฟคท์แบบ Delay นั่นเอง เทปที่ใช้นี้เป็นเทปขนาด 6 มิลแบบเดียวกับเทปม้วน Open Reel อื่นๆในยุคเดียวกัน เพียงแต่เอาปลายเทปด้านหนึ่งมาต่อกับอีกด้านเป็นลักษณะห่วงขนาดนึง (Tape Loop) เพื่อให้เนื้อเทปหมุนวนอัดและเล่นไปได้เรื่อยๆ ไม่ต้องพลิกกลับหน้าแบบระบบเทปคาสเซ็ท เนื้อเทปนี้ไม่ได้ถูกม้วนไว้แน่นๆ แต่กลับจับใส่ลงในกล่องเก็บเทปที่เรียกว่า Tape Chamber หรือ Tape Tank ในลักษณะขดไปมา ดูเปลืองที่แต่เพื่อป้องกันไม่ให้เทปยับและถูกแรงดึงให้ยืดได้ง่าย ระบบกลไกการเดินเทปจะส่งต่อไปยังหัว
เทปทำการบันทึกและเล่นเสียงซ้ำไปมาได้

Tape Tank

ระบบกลไกการเดินเทป

วีธีการปรับแต่งเสียงดีเลย์ หรือเอคโค่ บนเครื่องนี้ จึงเป็นเพียงการควบคุมระบบการเล่นและอัดเทป เช่น
การควบคุมความเร็วในการเดินเทป (Tape Speed) เมื่อปรับให้เทปเดินเร็วขึ้น เสียงดีเลย์ก็จะเข้ามาเร็วขึ้น และถ้าปรับให้เทปเดินช้าลง เสียงดีเลย์ก็จะห่างออกไป ดังนั้นการปรับความเร็วในการเดินเทปจึงเท่ากับการตั้งค่า Delay Time นั่นเอง แต่ด้วยคุณสมบัติเฉพาะของการอ่านเทป เมื่อเทปถูกเล่นเร็วขึ้น นอกจากเสียงที่ออกมาจะเร็วขึ้น pitch หรือระดับเสียงก็จะสูงขึ้น และถ้าเทปเดินช้าลง ระดับเสียงก็จะต่ำลง แปรผันตามสปีดเทปที่ปรับไปมา จึงเป็นลักษณะพิเศษของเสียง delay ที่เกิดจากเทปเอคโค่นี้เท่านั้น
เทคนิคอีกอย่างนึงในการเพิ่ม-ลดจำนวนการซ้ำของเสียงดีเลย์ (Repeat) ในทางปฏิบัติคือ เนื่องจากแถบเทปแบบ loop นี้จะหมุนวนจนครบรอบซ้ำไปซ้ำมาอยู่ตลอดเวลา เสียงดีเลย์แรกๆจะทยอยถูกลบไปเมื่อเดินกลับมาถึงหัวอัดเทปอีกครั้ง เพื่ออัดเสียงใหม่ที่พึ่งเข้ามา แต่ที่หัวอัดของเทปเอคโค่นี้สามารถปรับความเข้มในการลบเทปได้ จึงยังคงเสียงเก่าและรวมเข้ากับเสียงใหม่ไว้ได้ มากน้อยตามการปรับ และเมื่อเสียงเก่านี้เดินทางกลับเข้าไปถูกอัดใหม่อีก ซ้ำไปเรื่อยๆเสียงดีเลย์ก็จะเพิ่มเป็นทวีคูณ (Super Feedback) การอัดเทปทับ (Dubbing Tape) นั้นทำให้เกิดซาวด์เฉพาะตัว เสียงดีเลย์ที่เกิดจากเทปเอคโค่จึงไม่สามารถถูกลอกเลียนแบบได้ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน (Dub Sound)
การปรับค่าอื่นๆก็ได้แก่ การเปิดปิดหัวอ่านเทปตัวที่ 2 ที่ 3 จึงสามารถเปลี่ยนระยะการกิดดีเลย์ได้ทันที จึงมีประโยชน์ในการตั้ง Delay time ให้ตรงกับกับจังหวะในการเล่นดนตรีพอดี จึงเปลี่ยน Eight ไปเป็นแบบ Eight Triplet ก็ได้
การควบคุมความดังของเสียงที่เข้ามา โดยมีหน้าปัดแบบเข็มกระดิกบอกความแรงของสัญญาณ ที่ฝั่งขาออกก็มีปุ่มปรับเพื่อผสมเอาเสียงเอคโค่หรือดีเลย์ที่ได้จากเครื่องนี้ มากน้อยแค่ไหน
สามารถการปรับโทนของเสียงเอคโค่ด้วย EQ ซึ่งทีแรกอาจจะมีไว้เพื่อปรับปรุงความชัดของเสียงเอคโค่ เพราะได้มาจากการอัดเทปทับ เสียงจึงมีการทุ้มลงโดยธรรมชาติ แต่เราสามารถแต่งเป็นโทนต่างๆที่ต้องการด้วย EQ นี้เพียงเพิ่ม-ลด bass หรือ treble
โดยสัญญาณเสียงทั้งหมดที่ออกไปนี้ ตั้งให้แรงมากน้อยเพื่อเหมาะสมกับอุปกรณ์ที่จะไปต่อพ่วงได้ 3 ระดับ (-10, -20, -35db) จึงสามารถเอาไปใช้เป็นเอฟเฟคท์สำหรับ Instrument (กีตาร์) หรือ Vocal (ไมค์) หรือในการ Mixing ก็ได้

Roland Space Echo RE-201

จากที่เคยใช้ Tape Echo นี้มา นอกจากจะสามารถผลิตเสียงดีเลย์ที่แปลกล้ำคาดเดาได้ยากแล้ว เนื้อเสียงยังหนานุ่ม อุ่น และมีมิติมากนัก ตัวมันเองยังสามารถประดิษฐ์เป็นเสียง Sound Fx ได้ตามลำพังเองแม้ไม่ได้ต่อไมโครโฟนหรือเสียงใดๆเข้าไป โดยการปรับปริมาณการซ้ำของดีเลย์ให้มากที่สุดไว้ เมื่อลองปรับสปีดการป้อนเทปหรือปุ่มอื่นๆไปมา ก็จะสามารถกำเนิดเสียงอันเกิดจากการสั่นสะเทือนของกลไกของมันเองได้อย่างน่าทึ่ง เป็นเทคนิคที่นักเล่น Echo สายทดลองรู้จักกันดี จึงมีเทปเอคโค่รุ่นดังที่ตั้งชื่อว่า “Space Echo” ผลิตโดยบริษัท Roland เพราะเทปเอคโค่นั้นให้เสียงแบบอวกาศจริงๆ แน่นอนว่าเทปเป็นวัสดุที่สึกหรอได้ เมื่อใช้ Tape Echo ไปนานๆก็จำเป็นต้องเปลี่ยนเนื้อเทปใหม่ อายุการใช้งานของมันอยู่ที่ 200ชั่วโมง ถึง 300ชั่วโมงในรุ่นปรับปรุงรุ่นใหญ่ (RE-501)

Roland Chorus Echo RE-501
จากอายุของเครื่องชนิดนี้ (Roland RE-100 เกิดปี1973) พบว่ายังถูกนำมาใช้ในวงดนตรีแนวหน้ามากมายจนถึงทุกวันนี้ ที่จดจำได้ดีจากงานเพลงในแบบทดลองของวงดนตรีดังอย่าง Radiohead และก่อนหน้านั้นดนตรีร๊อคแอนด์โรลดั้งเดิม (Rockabilly) ใช้กันมากมายในซาวด์แบบ Slap back Delay อย่าง Brian Setzer จนกลายเป็นซาวด์ดนตรีชนิดนี้ไปเลย ต้องมี Slap back Delay ถึงจะเป็นดนตรีแนวนี้ได้ นอกจากนี้เทปเอคโค่ของ Roland รุ่น RE-201 หรือ Space Echo นี้ยังถูกใช้ในงานดนตรีอิเลคทรอนิคส์ในสมัยใหม่นี้เป็นอย่างมาก
แม้ Space Echo รุ่นดังนี้จะหาซื้อในสภาพใช้งานได้ดีไม่ง่าย แต่บริษัทที่ทำเอฟเฟคท์สำหรับกีตาร์ไฟฟ้าของ Roland ในปัจจุบันก็คือ Boss ได้ทำรุ่นใหม่ที่เลียนแบบมาด้วยเทคโนโลยีแบบดิจิตอลชื่อรุ่น RE-20 มาทดแทน

ศิลปินที่ใช้เทปเอคโค่ทำงานเพลงจนเป็นงานลักษณะเฉพาะที่บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์เพลง ได้แก่
Nick McCabe of The Verve
Brian Eno
Jonny Greenwood of Radiohead
Noel Gallagher of Oasis
Leftfield
Pink Floyd
Tim Simenon
Sonic Youth
Zombie Nation
Alan Vega of Suicide
Wata of Boris
Lee "Scratch" Perry
King Tubby

อ้างอิงจาก Wikipedia

วันศุกร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

การอ่านค่า Fuse


เนื่องจากผมจะชอบแกะเครื่องใช้ไฟฟ้ามาซ่อมประจำ วันนึงต้องการเปลี่ยน Fuse เมื่อเจอตัวที่มี Code แปลกไปจึงค้นดูในเน็ต ขออนุญาติเอามารวบรวมไว้เป็นความรู้ครับ

โพสต์โดยคุณ 2advanced
ใน htg2.net

"จากหนังสือ Audiophile โดย ดร. ชุมพล เรียบเรียงใหม่เล็กน้อยให้อ่านง่ายขึ้นนะครับ

โดยมาตรฐานทั่วๆ ไปฟิวส์ที่ใช้ในเครื่องเสียงจะมี 2 ขนาด คือ 20 มม. (ตัวสั้น) และ 30 มม. (ตัวยาว) ซึ่งในปัจจุบันเครื่องเสียงที่ออกมาใหม่ๆ มักจะใช้ขนาด 20 มม. และให้พิจารณาว่าฟิวส์เดิมที่ติดมากับเครื่องนั้นเป็นชนิดขาดเร็ว (Fast Blow) หรือขาดช้า (Slow Blow) แล้วให้เปลี่ยนเป็นฟิวส์ชนิดเดียวกัน โดยฟิวส์ชนิด Fast Blow จะมีอักษร "F" ปั๊มอยู่บนขั้วด้านใดด้านหนึ่ง หรือหากไม่มีตัว "F" ให้ลองดูว่ามีเลข 314 อยู่หรือไม่ ถ้ามีอยู่ก็แสดงว่าฟิวส์ตัวนั้นเป็นชนิดขาดเร็ว ส่วนฟิวส์ชนิดขาดช้าจะเป็นตัว "T" ปั๊มอยู่บนขั้วใดขั้วหนึ่ง (ย่อมาจาก Time-Delay) หรือหากไม่มีตัว "T" ให้ดูว่ามีเลข 326 ปั๊มอยู่หรือไม่ ถ้ามีก็แปลว่าเป็นชนิดขาดช้า

เครื่องอุปกรณ์ที่บริโภคกระแสไม่ดุ เดือด เช่น cd player, dvd player, pre-amp มักจะใช้ฟิวส์ป้องกันชนิดขาดเร็ว (Fast Blow) ส่วนพวกซดกระแสเปลืองๆ เปิดปิดทีนึงกระชากไฟรุนแรง เช่น power-amp หรือ เครื่องควบคุมกระแสไฟฟ้า (Stabilizer) จะใช้ฟิวส์ชนิดขาดช้า

ถ้าเอาฟิวส์ Fast Blow ไปใช้กับ power-amp ผล คือ อายุการใช้งานสั้นและทำให้ต้องเสียงเงินเปลี่ยนฟิวส์กันบ่อยๆ หรือในทางกลับกันเอาฟิวส์ขาดช้าไปใส่ในเครื่องเล่นซีดี หรือปรีแอมป์เสียงอาจจะหนาขึ้น แต่ลมหายใจดนตรีลดลงและที่แย่ที่สุดคือมันจะไม่ตัดเวลาที่เกิดความผิดปกติใน ระบบกระแสไฟฟ้า ผลก็คือเครื่องฟังครับ

สิ่งสุดท้ายที่ต้องพิจารณาคือ ระดับความต้านทานว่าฟิวส์ตัวนั้นรับกระแสไฟฟ้าได้กี่แอมป์ เช่น ในเครื่องเล่นซีดีจะใช้ฟิวส์ที่มีความต้านทาน 0.5-1 แอมป์ ในปรีแอมป์จะใช้ฟิวส์ขนาด 2-3 แอมป์ หรือในพาวเวอร์แอมป์จะใช้ฟิวส์ขนาด 3-6 แอมป์ เลือกใช้ให้ใกล้เคียงกับสเป็คเดิมมากที่สุด อนุญาตให้ "เกิน" ได้เล็กน้อย (ไม่ควรจะมากกว่า 0.5 แอมป์) ไม่ควรลดขนาดแอมป์ลงมาเนื่องจากอาจทำให้ฟิวส์ขาดบ่อย ส่วนการใช้งานฟิวส์ที่แอมป์สูงขึ้นมากๆ มีข้อเสียคือไม่ได้ประโยชน์ในทางป้องกันกระแสไฟฟ้าลัดวงจรหรือมีความผิดปกติ อันอาจก่อให้เกิดความเสียหายกับเครื่องเสียงได้ครับ"

กรณีฟิวส์ของผมนั้นเขียนว่า T4L250V นั่นคือ ฟิวส์ขนาด 4A 250V แบบ Slow Blow (ขาดช้า) นั่นเอง ว่าแล้วก็ออกไปซื้อที่ร้านอิเล็คทรอนิคส์ใกล้ๆบ้าน

วันจันทร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2552

Nord Wave's Oscillator

สวัสดีครับ ครั้งที่แล้วอธิบายมาถึงเรื่องของ Envelope นั่นคือวิธีการที่พบบ่อยในระบบของ Synthesizer ซึ่งเวลาที่เราเล่นโน้ตด้วยการกดคีย์เปียโน แล้วอยากให้เสียงดังออกมาแบบ Slow Attack คือค่อยๆดังออกมา หรือจะให้เสียง Release ค้างยาวออกไป หรือจะให้สั้นห้วนแค่ไหน อันนี้ควบคุมด้วยการตั้งค่าของ Envelope เอาไว้ก่อน ซึ่งเท่ากับว่าเสียงของเราถูก Modulation กับ Envelope ไว้แล้วนั่นเอง ส่วนคราวนี้มารู้จักต้นตอของเสียงที่นำมา Synthesis กันบ้าง

Oscillators (OSC1 &OSC2)
ในส่วนของ OSCILLATOR นั้น เป็นภาคของการผลิต waveform ที่มากับ harmonic หลายๆแบบ นี่เป็นคุณสมบัติสำคัญของเสียงเพราะสามารถนำไปเปลี่ยนรูปร่างได้อีกหรือจะมา Modulate กันทีหลังก็ได้ตามแต่เราจะกำหนด ที่ Nord Wave จะให้มี OSCILLATOR มา 2 ตัว ใช้ได้พร้อมกัน ซึ่งเราจะนำมา Mix หรือจะนำมา Modulate กันเองก็ได้ เพื่อจะเกิดโครงสร้างของ harmonic ที่ซับซ้อนขึ้นไปอีก
ใน OSC 1 และ 2 จะมีสวิตซ์กดเลือก Waveform โดยมีให้เลือกดังนี้

Pulse
เลือกได้ทั้งจาก OSC1 และ 2 ซึ่งจะเสียงจาก pulse นี้จะมีคาแรคเตอร์แบบ hollow (โปร่ง) มากับ harmonic ที่เป็นจำนวนคี่เท่านั้น ซึ่งจะเปลี่ยนไปตามความกว้างของ pulse สำหรับ pulse ที่ขนาดแคบๆจะได้ยิน harmonic มากกว่า มีเทคนิคที่เรานำ LFO ไป Modulate กับความกว้างของ Pulse นี้เพื่อให้เปลี่ยนแปลงไปมา เราเรียกเทคนิคนี้ว่า Pulse Width Modulation (PWM) ซึ่งจะได้เสียง Strings สังเคราะห์ที่เจอบ่อยๆ
เราใช้ปุ่ม Shape ในการปรับความกว้างของ Pulse แต่ถ้า OSC1 อยู่ใน Sync mode ปุ่ม Shape จะใช้ปรับค่า pitch ของ pulse แทนโดนความกว้างของ pulse จะอยู่ที่ 33%
*หมายเหตุ ปุ่ม Sync โหมด กดเพื่อให้ OSC 1 และ 2 มี pitch ที่สอดคล้องกันตลอด โดยสามารถปรับเปลี่ยนค่า pitch ได้ที่ปุ่ม shape ของ OSC 1

Sawtooth
เลือกได้ทั้งจาก OSC1 และ 2 เช่นกัน ซึ่งจะเสียงจาก sawtooth นี้จะมีผลิตซาวน์ที่เรียกว่า Rich ได้เพราะมันมีจำนวน harmonic ทั้งคู่และคี่
ปุ่ม shape ไม่มีผลอะไรกับ sawtooth นี้ แต่ถ้าอยู่ใน Sync mode ปุ่ม Shape ก็จะใช้ปรับค่า pitch ของ OSC ทั้งสองตัวแทน

Triangle
เลือกได้ทั้งจาก OSC1 และ 2 อีกเช่นกัน แต่มีแค่ harmonic จำนวนคี่เท่านั้น เสียงออกไปทางนุ่มนวล
ปุ่ม shape ไม่มีผลอะไรกับ sawtooth นี้ แต่ถ้าอยู่ใน Sync mode ปุ่ม Shape ก็จะใช้ปรับค่า pitch ของ OSC ทั้งสองตัวแทน

Wave
Wavetables (Wave) เลือกได้จาก OSC1 เท่านั้น โดยจะมี Waveform ต่างๆในตารางเสียงให้เลือก แต่ละอันจะเป็นแซมเปิ้ลเสียงขนาดสั้นๆแค่หนึ่งรอบ (Single Cycle Sample) การเลือกใช้ Wave มา Synthesis ต่อนั้น จะสามารถมีเสียงที่ Rich และหลากหลายมากขึ้นกว่า Waveform พื้นฐาน ในตารางเสียงนี้มีทั้งหมด 62 wavetables โดยใช้ LED-dial หมุนเลือกซึ่งจะแสดงชื่อในจอ LCD
ปุ่ม shape ไม่มีผลอะไรกับ Wave เลย

Sample Instruments
Sample Instruments หรือ SAMP นั้นเลือกได้จาก OSC2 เท่านั้น นั่นคือชุด Sample เสียงเครื่องดนตรีขนาดใหญ่ พร้อมเล่นเป็นเครื่องดนตรีนั้นได้ทันที มีได้ถึง 99 Sample Instruments ที่ผลิตมาจากโรงงานและสามารถดาวน์โหลดเพิ่มได้มากมายโดยเชื่อมต่อกับ PC หรือ MAC จะพูดถึงส่วนนี้ทีหลัง

Sampled Waves
Sampled waves (SWAV) นั้นเลือกได้จาก OSC2 เท่านั้น ใกล้เคียงกับ wavetables แต่จะเป็นแซมเปิ้ลของเสียงเครื่องดนตรีอะคูวสติคซึ่งจะมีส่วนของเสียง attack ธรรมชาติตามที่มา ต่อจากนั้นจะเป็นส่วนที่ loop ได้เพื่อให้เสียงนั้นยาวขึ้นได้
ปุ่ม Shape2/Decay ของ OSC2 จะใช้กำหนดความสั้นยาวของเสียง (Decay) สำหรับทั้ง SWAVE และ Sample InstrumentsS

FM-Synthesis
FM-Synthesis (FM) หรือการสังเคราะห์แบบ Frequency Modulation เลือกได้จาก OSC1 และ OSC2 โดยวิธีการ Modulation แบบ FM นี้จะใช้ความถี่ (Frequency) ของ oscillator ตัวหนึ่งเป็น “พาหะ” (Carrier) ซึ่งจะนำไป modulated กับ wave ที่ได้จาก oscillator ตัวอื่น (the Modulator) ผลที่ได้คือ ความของ Carrier จะเปลี่ยนแปลงตาม amplitude ของ modulator wave สำหรับใน OSC1 และ2 นี้สามารถเลือกให้ modulated กับตัวมันเองโดยใช้วิธีการป้อนกลับสัญญาณ (feedback)
ปุ่ม Shape จะใช้ปรับเพื่อป้อนกลับสัญญาณ(ตัวมันเอง) เพื่อทำการ frequency modulated น้อยไปมาก
รูปที่สองนี้นอกจากจะทำการ frequency modulated โดยตัวเองจาก OSC1 และ 2 แล้วยังนับผลลัพธ์ทั้งสองมา modulates กันเองอีกแล้วจึงนำผลลัพธ์มา Mix กัน ทำให้ผลลัพธ์สุดท้ายนั้นไปไกลกว่า waveform พื้นฐานเช่น Sine มากนัก เราจะได้ทั้งโทนเสียงและ harmonic ที่เพิ่มขึ้นด้วยวิธีการ FM-Synthesis (FM) นี้เอง
การ Modualtion หลายซับหลายซ้อนนี้ ยังมีอีกมากมายหลายรูปแบบ ซึ่งเราจะใช้คำว่า “อัลกอริทึ่ม” หรือ FM Algorithm จากการทดลองมากมาย ผู้ผลิต Syhtesiser แบบ FM จึงมีอัลกอริทึ่มเด่นๆมาให้เลือกลอง สำหรับ Nord Wave นั้นจัดมาทั้งหมด 19 อัลกอริทึ่มตามตารางนี้
ปุ่ม Shape2 และ Shape1 ใช้ปรับปริมาณการ frequency modulated น้อยไปมาก
ปุ่ม LED-dial ใช้เลือกto select FM-algorithm.
วิธีอ่านตาราง บนตารางจะมีคำว่า OP มาจาก Operator หมายถึง oscillators จำนวน 2 ตัว โดยกำหนดให้ตัวหนึ่งเป็น Carrier และอีกตัวหนึ่งเป็น Modulator เราเรียการเซ็ทอัพนี้ว่า 2 operator FM-Synthesis, เขียนย่อว่า 2-OP แสดงในจอ LCD

Feedback เป็นการป้อนกลับสัญญาณตัวมันเองไป modulate กับตัวเอง ปุ่ม shape จะใช้ควบคุมปริมาณการป้อนกลับและการ modulation ไปในตัว
Frequency ratio
โดยการกำหนดให้ the Modulator มีความถี่แตกต่างไปจาก Carrier ตามอัตราส่วน ซึ่งผลจากการ modulate กันแล้วจะได้ harmonic แตกต่างไปอีก
จากรูปแสดงการ modulation ระหว่าง Modulator ซึ่งมีความถี่สูงกว่าความถี่ของ Carrier เป็นอัตราส่วน 9:1 และผลลัพธ์ที่ได้

Sine
กลับมาพูดถึง Sine ซึ่งเป็น waveform พื้นฐานกลับไม่มีให้เลือกโดยตรงใน OSC1 และ2 แต่เราสามารถสร้างได้โดยเลือกเป็น FM แล้วปรับที่ปุ่ม shape เป็นศูนย์ นั่นคือไม่ modulate เลย

Misc
Misc ได้แก่ waveform อื่นๆ มีให้เลือกใน OSC1 เท่านั้นซึ่งจะมีบรรดาพวก noise ให้เลือกอยู่ด้วย

Noise
เมื่อเลือกให้เป็น noise ซึ่ง waveform ชนิดนี้จะไม่มีระดับเสียงเหมือน waveform อื่นๆ แต่จะมี color ซึ่งหมายถึงองค์ประกอบของความถี่แทน โดยปุ่ม shape1 จะแทนด้วย lowpass filter เมื่อหมุนตามเข็มไปซาวน์ของ noise จะสว่างขึ้น และถ้าหมุนไปสุดจะใกล้เคียงกับ white noise คือทุกๆความถี่จะแสดงออกเป็นพลังงานเท่ากัน

SEMI TONES knob
อยู่ที่ OSC2 ใช้ปรับค่า pitch ของ oscillator2 สัมพัทธ์กับ oscillator1 ไปทีละครึ่งเสียง ได้จาก -24 semi tones หรือ -2 octaves ไปถึง +24 semi tones หรือ +2 octaves นั่นเอง

Fine tue knob
ใช้ปรับค่า pitch โดยละเอียดคือ +-50 semitones
ถ้าเรา Mix OSC ทั้งสองเท่ากันและให้มี pitch เท่ากันด้วย เมื่อปรับค่า Fintune pitch ของ OSC2 ไปเล็กน้อยนั่นคือให้เพี้ยนกันเพียงเล็กน้อยจะทำให้ซาวน์ฟัง “rich” ขึ้นมาได้ นี่เป็นเทคนิคเดียวกับการออกแบบเครื่องดนตรีอะคูวสติคที่เคยมีมาเช่น แอคคอเดี้ยน หรือ กีตาร์12สาย

Oscillator Modulation (OSC MoD)
ที่ปุ่ม oscillator modulation นั้นคือปรับให้ OSC2 ทำการ modulating กับ OSC1 ซึ่งบน Nord Wave มีชนิดของการ mod ให้เลือกทำได้สองแบบคือ Frequency Modulation และ Phase Modulation
เราจะได้ผลจากการ Mod กันเองนี้ทาง OSC1 ซึ่งจะมี harmonic ที่เปลี่ยนไปในขณะที่ Frequency เดิม หากต้องการฟัง OSC2 ด้วยก็สามารถปรับที่ปุ่ม OSC Mix ได้เช่นเคย

Frequency Modulation (fm)
วิธีการนี้จะทำให้เกิดช่วงความถี่ที่กว้างขึ้น (wider spectrum) และผลลัพธ์ของเสียงนั้นจะรู้สึกได้ว่าดิบและสว่างกว่าปกติ ส่วนองค์ประกอบของ harmonic นั้นเปลี่ยนไปอย่างดุเดือดขึ้นกับช่วงโน้ตที่เราเล่น ดังนั้นแต่ละโน้ตอาจจะให้ซาวน์ไม่เท่ากันเป็นเรื่องปกติ
Phase Modulation (PM)
วิธีการนี้จะทำให้เกิด harmonic ที่สัมพัทธ์เหมือนกันตลอดไม่ว่าเราจะเล่นโน้ตในช่วงไหน จึงให้ซาวน์ที่ราบรื่น
เลือกวิธีการ Modualtion กับปริมาณการ Mod ได้จากปุ่ม Type และ Amount ตามลำดับ

Oscillator mix
ปุ่ม OSC Mix นั้นใช้ปรับบาลานซ์ความดังระหว่าง OSC1 และ 2 เราสามารถเอาแต่เสียง OSC1 อย่างเดียวได้โดยบิดไปทางซ้ายสุด หรือกลับกัน

วันอาทิตย์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

Analog Synthesiser by Nord Wave

เมื่อสองเดือนที่แล้วผมได้รับความเอื้อเฟื้อจากบริษัทออดิทรัลโปรให้ยืมซินทิไซเซอร์รุ่นใหม่ล่าสุดจากสวีเดน มันมีชื่อว่า Nord Wave ซึ่ง ในอุตสาหกรรมเพลงบ้านเรานั้นไม่ค่อยได้ใช้เครื่องดนตรีประเภทนี้เท่าไหร่ นอกจากผู้ที่มีความสนใจส่วนตัวจริงๆ ไม่ก็เป็นผู้ที่ทำเพลงแนวอิเลคทรอนิคส์ หรืองานออกแบบเสียง (แต่จริงๆไม่เกี่ยวกับแนว) ที่สำคัญราคาของเจ้าเครื่องนี้นั้นจัดว่ามากเอาการ ถ้าหากใครไม่รู้ว่าจะนำไปใช้อะไรยังไง ถ้าไม่มีเงินเหลือเฟือก็คงไม่กล้าลงทุนซื้อมาลองเล่นๆดู อันที่จริงผมก็เป็นผู้ที่สนใจเครื่องดนตรีประเภทนี้ควบคู่กับเรื่อง ซอฟท์แวร์มาตลอด ทำให้มีไอเดียถึงเนื้อหาที่จะเขียนต่อไปเป็นเรื่องของซินทิไซเซอร์นั่นเอง ซึ่งไม่ใช่อิเลคทรอนิคส์คีย์บอร์ดหรือเปียโนที่เห็นในปัจุบันนี้ แต่เป็นแบบที่เรียกว่า อะนาล็อกซินฯ นั่นคือซินยุคต้นแบบ เป็นไงนั้นลองติดตามอ่านไปซักนิดครับ

เครื่องมือที่เรียกว่า Analog Synthesizer นี้ เป็นอุปกรณ์สำคัญมาช้านานของนักแต่งเพลง ไม่ใช่เพราะมันแค่สามารถสังเคราะห์เลียนเสียงเครื่องดนตรีต่างๆได้ แต่เพราะเรนจ์ของเสียงที่กว้างขวางของมันและความอิสระของ Pitch เหล่านักดนตรีทั้งหลายจึงให้ความสนใจมัน หากคุณได้ติดตามหน้าประวัติศาสตร์ของดนตรีทั้ง Jazz และ Rock&Roll มา ตั้งแต่ยุค 60 ก็ได้นำเครื่องดนตรีประเภทนี้มาใช้อย่างน่าอัศจรรย์ และมันก็ไม่ใช่งานของนักวิทยาศาสตร์เท่านั้น



Kraftwerk วงดนตรีที่มีผลงานตั้งแต่ปี1970มาจนถึงปัจจุบัน พวกเค้าใช้เครื่องดนตรีแบบอิเลคทรอนิคส์และเป็นต้นแบบดนตรีแนว Kraut Rock


พักเรื่องประวัติศาสตร์ไว้นิด การที่คุณจะเริ่มใช้ซินทิไซเซอร์สังเคราะห์เสียงคล้ายๆกับแบบที่ต้องการขึ้น มาได้นั้น คุณจะต้องศึกษาเรื่องของ Waveform หรือรูปคลื่น (เสียง) และการผสมคลื่น (Modulation) และ ยังต้องชอบสังเกตเครื่องดนตรีต่างๆ ลักษณะการเกิดเสียงของมัน สั้น-ยาว เร็ว-ช้ายังไง รวมไปถึงเสียงต่างๆที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ เราจะเอาข้อสังเกตต่างๆเหล่านั้นมาเป็นข้อมูลเพื่อใช้ในการสังเคราะห์ เสียงอย่างมีหลักการหรือนอกหลักการได้เป็นอย่างดี


Waveform พื้นฐานนั้นได้แก่ Sine Wave, Triangle Wave, Saw(tooth) Wave, Square Wave

ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา อะนาล็อกซินทิไซเซอร์นั้นก็ใช้เจ้าคลื่นหน้าตาพื้นฐาน 3-4 ตัวนี้ กับเสียง Noise อีกตัวมาผสมกันเป็นเสียงต่างๆได้ เมื่อผมได้เห็นเจ้า Nord Wave และเล่นดูก็พบว่ามันยังคงวิธีการแบบเดิมไว้ทั้งสิ้น ผมจึงขออนุญาติใช้มันเป็นต้นแบบในการเขียนเรื่อง Analog Synth นี้ต่อไปเลยล่ะกัน ซึ่งอาจจะไม่ได้เล่าแบบ 1 ไป 10 เพื่อความเข้าใจไปทีละนิด


หน้าตาของ Nord Wave

Analog Synth ตัวแรกๆนั้นสามารถเล่นได้ทีละโน้ตเท่านั้น (กดเป็นคอร์ดไม่ได้) เราเรียกว่า monophonic synth มันจึงมักถูกใช้เป็นเครื่องดนตรีประเภท Lead หรือ Bass Line สำหรับรุ่นที่ต่อๆมาพัฒนาให้กดได้มากกว่านั้น จึงกลายเป็น Polyphonic Synth จึงมักจะถูกใช้ทำเสียงพวก Chords Pad หรือ Strings เพียงแค่นี้ทั้งสองแบบนี้ก็กลายเป็นคนละเครื่องดนตรีเพราะมีวิธีเล่นที่ต่างกัน บน Nord Wave นั้นสามารถเป็นได้ทั้งสองแบบ โดยจะมีปุ่มกดให้เป็น mono mode เพื่อใช้เทคนิคการเล่นแบบ Lead Synth บนคีย์บอร์ดได้


ใกล้ๆปุ่ม mono mode มีปุ่ม legato ที่ทำให้เสียงโน้ตลากยาวค้างไปตลอด เมื่อเล่นคีย์บอร์ดจะเปลี่ยนแค่ pitch เท่านั้น นี่ก็เป็นเทคนิคนึงในการเล่นแบบ Lead ใน Analog Synth อื่นๆจะเป็นสวิตซ์ที่เขียนว่า Hold

และใกล้ๆอีกจะมีปุ่มหมุนเขียนว่า Glide เมื่อหมุนไปซักนิดนั้น จะทำให้เวลาที่คุณเล่นโน้ตใดค้างไว้แล้วเล่นโน้ตตัวต่อไป เสียงโน้ตตัวแรกจะโหนไปหาตัวที่สอง ใน Analog Synth อื่นๆจะเป็นปุ่มหมุนหรือ Fader ที่เขียนว่า Portamento

ทั้ง Glide และ Legato นี้เป็นเทคนิคอันโดดเด่นในวิธีการเล่นแบบ Lead Synth ซึ่งบน Nord Wave นั้นจัดไว้ใกล้กันเพื่อง่ายต่อการเรียกใช้


Front Panel – ฟร้อนท์พาเน่ล หรือ แผงควบคุมด้านหน้า


ก็คือแผงหน้าที่มีปุ่มไว้ปรับค่าต่างๆนั่นเอง
บนพาเน่ลของ Nord นั้นแบ่งออกเป็น 3ส่วนใหญ่ๆคือ
- Program and Performance area เป็นส่วนที่ใช้เลือกโปรแกรมเสียงและควบคุม Master Level
- Synth area ส่วนนี้ จะมีปุ่มสำหรับปรับแต่งค่าของ Synth
- Effect area ส่วนนี้เป็นการตั้งค่าเอฟเฟคท์เพิ่มเติม


บนส่วน Program จะมี LCD (แอลซีดี) จอสีฟ้าสำหรับแสดงผลเป็นตัวหนังสือในขณะเลือกเสียงหรือกำลังปรับค่าต่างๆ สำหรับอุปกรณ์ที่เรียกว่า LCD นี้ ตัว “L” มาจาก “Liquid” (ลิควิด) แปลว่า ของเหลว ซึ่งบนหน้าจอของ LCD นั้นภายในมีของเหลวที่ใช้กระแสไฟฟ้ากระตุ้นให้แสดงผลเป็นรูปหรือตัวหนังสือต่างๆได้ ซึ่งเรามักจะเห็นจอแบบนี้มาตั้งแต่หน้าปัดนาฬิกาดิจิตอลยุคแรกๆ หรือพวกเกมกดยุคแรก และพัฒนาต่อไปจนแสดงเป็นภาพสีได้


Knob and Dial


Knob หรือ น็อบ ก็คือปุ่มหมุนใช้ปรับค่าต่อเนื่องต่างๆ เช่น โวลุ่ม ที่เราใช้มาตลอด เป็นลักษณะหมุนไปสุดขอบซ้ายขวา


Rotary Dial โรตารี่ ไดล์ เป็นปุ่มหมุนแบบไม่ต่อเนื่อง คือเวลาหมุนจะดังและเลื่อนไปทีละแกร๊ก และจะหมุนได้รอบ วิธีการคือมันจะเพิ่มค่าทีละ 1 เมื่อหมุนตามเข็มนาฬิกา และลดค่าลงทีละ 1 เมื่อหมุนย้อนเข็ม มักพบในกรณีต้องปรับค่าที่ต้องการความเที่ยงตรง สำหรับบน Nord Wave มีโรตารี่ ไดล์ตัวใหญ่อยู่ 1 ตัวข้างๆจอ LCD ถ้าคุณกำลังปรับค่าใดๆด้วยน็อบนั้นๆอยู่ ที่จอ LCD ก็จะแสดงค่าที่กำลังปรับอยู่เป็นตัวเลข ค้างไว้ เราสามารถใช้โรตารี่ไดล์ปรับต่อซึ่งจะง่ายในการไปยังค่าที่ต้องการได้เที่ยงตรง สะดวกต่อจากใช้น็อบแบบธรรมดา ในการเลือกโปรแกรมเสียงไปทีละเบอร์ก็ไดล์จากปุ่มนี้เช่นกัน


LED Dials ก็เหมือนกับ โรตารีไดล์ นั่นเองแต่จะมีจอแบบ “LED” แสดงผลค่าของมันเองเป็นตัวเลข ซึ่งจะได้เลือกรูป Waveform ของ OSCillator ในส่วนของ Synth
สำหรับอุปกรณ์ที่เรียกว่า LED ตัว L นั้นมาจาก “Light” แปลว่าแสง ซึ่งทำมาจากอุปกรณ์อิเลคทรอนิคส์ที่เรียกว่าไดโอดที่ปล่อยแสงได้เมื่อมีกระแสไฟฟ้าเข้าไปถูกทาง ต่างจาก LCD โปรดระวังสับสน
ในการแสดงผลด้วย LED ให้มองเห็นเป็นตัวเลข จึงใช้ไดโอดเรืองแสงที่ว่านี้ 7 ตัวมาต่อวงจรกัน เราเรียกชื่อเทคนิคนี้ว่า 7 Segment LED เพราะเราสามารถเขียนตัวเลข 0-9 ได้จากการขีดเส้น 7 เส้น ในนี้อาจจะเพิ่มตัวที่ 8 เพื่อแสดงผลเป็นจุดทศนิยม


รูปจาก http://www.lc-led.com/Catalog/department/36/category/49


Master Level Knob ใช้ควบคุมความดัง ซึ่งควรใช้แบบน็อบธรรมดาเพื่อเปิดหรี่เสียงได้ทันตามความรู้สึกที่คุ้นเคย นั่นเพราะ Nord Wave ออกแบบมาเพื่อใช้ในการเล่นสดได้ดี แต่บนอุปกรณ์ในสตูดิโอที่ใช้ทำงาน Mastering เสียง มักจะเป็นแบบโรตารี่เพราะมันจะได้ตั้งค่าความดังได้เที่ยงตรงทุกครั้งไป


Buttons – ปุ่ม



Selector Buttons หรือปุ่มกดเลือกค่า ใช้วิธีการง่ายโดยกด 1ครั้ง ก็จะเปลี่ยนไปทีละค่า มักใช้เวลาที่มีค่าให้เลือกไม่เยอะนัก ในการเลือก Wave Form ในส่วนของ LFO เมื่อกดปุ่มเลือกไฟก็จะติดตำแหน่งที่รูป Wave form นั้นๆ เริ่มจาก Square Wave ไป Sawtooth และ Triangle ตามลำดับ และถ้ากดต่อไป ไฟจะติดสองดวงที่ Square และ Saw นั่นหมายถึง Waveform ของ LFO จะเป็น Random pulse และถัดไปก็คือ Random Sine…


On/Off Buttons ปุ่มเปิดปิดค่าต่างๆบน Nord Wave ใช้กดหนึ่งทีเปิดกดอีกทีปิดโดยแสดงด้วยไฟ LED หนึ่งดวง


Shift Button ในปุ่มปรับค่าต่างๆรวมทั้งน็อบ บางปุ่มจะมีสองฟังก์ชั่นในปุ่มเดียว คือใช้ปรับได้สองค่า เราจะกดปุ่ม Shift นี้ค้างไว้ เพื่อปรับค่าที่ซ่อนอยู่ลำดับที่สอง


ทำความเข้าใจเรื่อง Envelope


กลับจากวิธีการใช้ปุ่มต่างๆมาเรื่องของ Synth กันต่อ เรามักจะพบตัวหนังสือที่เขียนว่า ADSR บน Synth หรืออิเลคทรอนิคส์คีย์บอร์ดทั้งหลายผ่านตามาบ้าง ADSR นั้นมาจากคำว่า Attack, Decay, Sustain, Release ตามลำดับ ซึ่งรวมเรียกว่า Envelope ค่าเหล่านี้มีจะใช้หน่วงเวลาในการกระทำต่างๆบน Sythesizer ตัวอย่างที่พบอยู่ตลอดคือการใช้ ADSR กับความดังของเสียงเวลาเล่นด้วยคีย์บอร์ด

บน Nord Wave จะมีส่วนของ MOD ENV ซึ่งจะมีน๊อบปรับค่า Attack และ Decay/Release ง่ายๆสองค่า

พิจารณาความเข้าใจง่ายๆ คีย์บอร์ดก็เป็นแค่สวิตช์ เหมือนสวิตช์เปิดปิดไฟ (Gate) กดเปิดก็สว่างทันที กดปิดก็มืดทันที (ไม่นับไฟนีออนที่ Starter เสียนะครับ) เมื่อเรากดคีย์บอร์ดลงไปเสียงจะดังออกมาทันที และเมื่อเราปล่อยคีย์นั้นเสียงก็จะเงียบทันที แต่ถ้าเราเลือกใช้สวิตช์ไฟแบบมี dimmer ปรับความสว่างได้ ช่วงที่เราจะปรับ dimmer ให้ไฟสว่างสุดและค่อยๆหรี่จนมืดไปเปรียบกับการเปิดปิดแบบมี Envelope นั่นเอง การกำหนดให้ Envelope มีผลต่อความดังของเสียงเมื่อเล่นด้วยคีย์บอร์ดไว้ เสียงที่ดังออกมาและกำลังจะเงียบลงไปมีลักษณะนุ่มนวลคล้ายกับธรรมชาติได้
เปรียบเทียบกับการเกิดเสียงจากการเล่นเครื่องดนตรีอะคูวสติก ในจังหวะที่ดีดสายกีตาร์ลงไปจะเกิดเสียงขึ้นมาครั้งแรกสุดเราเรียกว่าเสียง “กระแทก” หรือ “Attack” ซึ่งเกิดจากปิ๊กกีตาร์ หรือจะเป็นเล็บหรือมือ กระทบกับสายดังขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆนี้และหายไปทันที ต่อจากนั้นจะเป็นเสียงสายกีตาร์สั่นดังต่อไปช่วงเวลานี้เราเรียกว่า เสียงยังคง Sustain ต่อไป และค่อยๆเงียบในที่สุด (Release)


จากรูป เมื่อกดคีย์ลงไป (Key Down) เสียงจะใช้เวลาสั้นๆในการดังขึ้นมาแล้วเงียบลงไป เมื่อเสียงขึ้นไปจนดังสุดช่วงเวลาต่อจากนั้นที่เสียงกำลังเงียบลงไปอย่างรวดเร็วเราเรียกว่า Decay (แปลว่าการเสื่อมลง) ดังนั้นการปรับให้ Synth เล่นเสียงที่ Attack เร็วและสั้น จะต้องปรับให้ค่า Attack และ Decay น้อยที่สุด ซึ่งหากมี Decay ที่สั้นมาก แม้จะกดคีย์บอร์ดค้างต่อไปก็ไม่มีเสียงแล้ว ลองสังเกตเสียงเปียโนหรือเครื่องดนตรีอะคูวสติกอื่นๆนั้นมีความสั้นยาวของ Decay เป็นยังไง


รูปที่สองหลังจากที่กดคีย์ลงไป (Key Down) แล้วยังกดแช่ไว้ ช่วงเวลานี้คือ Sustain ซึ่งเสียงยังคงดังต่อเนื่องไป แต่เมื่อปล่อยคีย์ (Key Up) แล้วเสียงค่อยๆเงียบลงไปนั่นคือเสียงใช้เวลาในการ Release (ปล่อย) อยู่ไม่นานนัก ถ้าเสียงเงียบลงทันทีนั่นคือช่วงเวลา Release เป็น 0

ในทางปฏิบัติเมื่อเราเล่นดนตรีเราสามารถควบคุมให้เสียงที่เราเล่นดังเบาได้ตามวิธีการฝึกของเครื่องดนตรีชิ้นนั้นๆ หากเราสังเกตสำเนียงในการเล่นดนตรีในแต่ละโน้ตของเรา และลองปรับบน Synthesizer ด้วย ADSR Envelope นี้ น่าจะพอจินตนาการในการออกแบบเสียงด้วย Analog Synthesizer ได้ดี บน Synthesizer ที่ Advance นั้นยังใช้การตั้งค่า ADSR ให้กับการเล่นแบบอื่นๆเช่น น๊อบบนค่าอื่นๆซึ่งจะทยอยมาลงต่อๆไป