วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

Tape Echo

ผ่านเข้ามาสู่ปี 2010 ซึ่งเทคโนโลยีในการผลิตงานดนตรีนั้นไปไกลสุดๆ สำหรับผมที่เป็นนักเขียนที่นำเสนอเทคโนโลยีใหม่ๆมาตลอด 10ปีที่ผ่านมานั้น อยากจะลองนำเสนอเทคโนโลยียุคเก่าที่ยังคงความชาญฉลาดที่เป็นอมตะให้ผู้อ่านยุคปัจจุบันอ่านกันเพลินๆสลับไปบ้าง
มีเครื่องมือตัวหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังซาวน์ดนตรี Avanguard ในหลายๆงานเพลงระดับขึ้นหิ้ง ผมกำลังจะพูดถึง “Tape Echo” ซึ่งก็คือเครื่องทำเสียงเอฟเฟคท์ประเภทดีเลย์นั่นเอง ซึ่งในเอฟเฟคท์สมัยใหม่ของมือกีตาร์ยุคนี้นั้น จะมีดีเลย์ให้เลือกใช้อยู่จนเป็นเรื่องธรรมดา สำหรับตัวเทปเอคโค่ที่จะเล่าให้ฟังนั้น จะมีความพิเศษและวิธีการแตกต่างไปจาก Digital Delay ทุกวันนี้ยังไง ลองติดตามอ่านดูครับ

Roland RE-201 “Space Echo”

หวังว่าผู้อ่านที่เป็นวัยรุ่นคงเคยใช้งานเครื่องเล่นเทปกันมาบ้าง จะขออธิบายถึงวิธีการทำงานของเทปเอคโค่ก่อน เจ้าเครื่องมือนี้จะทำการบันทึกเสียงที่ป้อนเข้ามาลงบนแถบบันทึกเสียง หรือเทปแม่เหล็กนั่นเอง แล้วนำเสียงที่บันทึกนั้นกลับมาเล่นให้ฟังด้วยหัวอ่านเทปที่อยู่ถัดไปตัวอื่นๆ ก่อนที่มันจะถูกลบด้วยเสียงที่เข้ามาใหม่ เกิดเป็นเอฟเฟคท์แบบ Delay นั่นเอง เทปที่ใช้นี้เป็นเทปขนาด 6 มิลแบบเดียวกับเทปม้วน Open Reel อื่นๆในยุคเดียวกัน เพียงแต่เอาปลายเทปด้านหนึ่งมาต่อกับอีกด้านเป็นลักษณะห่วงขนาดนึง (Tape Loop) เพื่อให้เนื้อเทปหมุนวนอัดและเล่นไปได้เรื่อยๆ ไม่ต้องพลิกกลับหน้าแบบระบบเทปคาสเซ็ท เนื้อเทปนี้ไม่ได้ถูกม้วนไว้แน่นๆ แต่กลับจับใส่ลงในกล่องเก็บเทปที่เรียกว่า Tape Chamber หรือ Tape Tank ในลักษณะขดไปมา ดูเปลืองที่แต่เพื่อป้องกันไม่ให้เทปยับและถูกแรงดึงให้ยืดได้ง่าย ระบบกลไกการเดินเทปจะส่งต่อไปยังหัว
เทปทำการบันทึกและเล่นเสียงซ้ำไปมาได้

Tape Tank

ระบบกลไกการเดินเทป

วีธีการปรับแต่งเสียงดีเลย์ หรือเอคโค่ บนเครื่องนี้ จึงเป็นเพียงการควบคุมระบบการเล่นและอัดเทป เช่น
การควบคุมความเร็วในการเดินเทป (Tape Speed) เมื่อปรับให้เทปเดินเร็วขึ้น เสียงดีเลย์ก็จะเข้ามาเร็วขึ้น และถ้าปรับให้เทปเดินช้าลง เสียงดีเลย์ก็จะห่างออกไป ดังนั้นการปรับความเร็วในการเดินเทปจึงเท่ากับการตั้งค่า Delay Time นั่นเอง แต่ด้วยคุณสมบัติเฉพาะของการอ่านเทป เมื่อเทปถูกเล่นเร็วขึ้น นอกจากเสียงที่ออกมาจะเร็วขึ้น pitch หรือระดับเสียงก็จะสูงขึ้น และถ้าเทปเดินช้าลง ระดับเสียงก็จะต่ำลง แปรผันตามสปีดเทปที่ปรับไปมา จึงเป็นลักษณะพิเศษของเสียง delay ที่เกิดจากเทปเอคโค่นี้เท่านั้น
เทคนิคอีกอย่างนึงในการเพิ่ม-ลดจำนวนการซ้ำของเสียงดีเลย์ (Repeat) ในทางปฏิบัติคือ เนื่องจากแถบเทปแบบ loop นี้จะหมุนวนจนครบรอบซ้ำไปซ้ำมาอยู่ตลอดเวลา เสียงดีเลย์แรกๆจะทยอยถูกลบไปเมื่อเดินกลับมาถึงหัวอัดเทปอีกครั้ง เพื่ออัดเสียงใหม่ที่พึ่งเข้ามา แต่ที่หัวอัดของเทปเอคโค่นี้สามารถปรับความเข้มในการลบเทปได้ จึงยังคงเสียงเก่าและรวมเข้ากับเสียงใหม่ไว้ได้ มากน้อยตามการปรับ และเมื่อเสียงเก่านี้เดินทางกลับเข้าไปถูกอัดใหม่อีก ซ้ำไปเรื่อยๆเสียงดีเลย์ก็จะเพิ่มเป็นทวีคูณ (Super Feedback) การอัดเทปทับ (Dubbing Tape) นั้นทำให้เกิดซาวด์เฉพาะตัว เสียงดีเลย์ที่เกิดจากเทปเอคโค่จึงไม่สามารถถูกลอกเลียนแบบได้ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน (Dub Sound)
การปรับค่าอื่นๆก็ได้แก่ การเปิดปิดหัวอ่านเทปตัวที่ 2 ที่ 3 จึงสามารถเปลี่ยนระยะการกิดดีเลย์ได้ทันที จึงมีประโยชน์ในการตั้ง Delay time ให้ตรงกับกับจังหวะในการเล่นดนตรีพอดี จึงเปลี่ยน Eight ไปเป็นแบบ Eight Triplet ก็ได้
การควบคุมความดังของเสียงที่เข้ามา โดยมีหน้าปัดแบบเข็มกระดิกบอกความแรงของสัญญาณ ที่ฝั่งขาออกก็มีปุ่มปรับเพื่อผสมเอาเสียงเอคโค่หรือดีเลย์ที่ได้จากเครื่องนี้ มากน้อยแค่ไหน
สามารถการปรับโทนของเสียงเอคโค่ด้วย EQ ซึ่งทีแรกอาจจะมีไว้เพื่อปรับปรุงความชัดของเสียงเอคโค่ เพราะได้มาจากการอัดเทปทับ เสียงจึงมีการทุ้มลงโดยธรรมชาติ แต่เราสามารถแต่งเป็นโทนต่างๆที่ต้องการด้วย EQ นี้เพียงเพิ่ม-ลด bass หรือ treble
โดยสัญญาณเสียงทั้งหมดที่ออกไปนี้ ตั้งให้แรงมากน้อยเพื่อเหมาะสมกับอุปกรณ์ที่จะไปต่อพ่วงได้ 3 ระดับ (-10, -20, -35db) จึงสามารถเอาไปใช้เป็นเอฟเฟคท์สำหรับ Instrument (กีตาร์) หรือ Vocal (ไมค์) หรือในการ Mixing ก็ได้

Roland Space Echo RE-201

จากที่เคยใช้ Tape Echo นี้มา นอกจากจะสามารถผลิตเสียงดีเลย์ที่แปลกล้ำคาดเดาได้ยากแล้ว เนื้อเสียงยังหนานุ่ม อุ่น และมีมิติมากนัก ตัวมันเองยังสามารถประดิษฐ์เป็นเสียง Sound Fx ได้ตามลำพังเองแม้ไม่ได้ต่อไมโครโฟนหรือเสียงใดๆเข้าไป โดยการปรับปริมาณการซ้ำของดีเลย์ให้มากที่สุดไว้ เมื่อลองปรับสปีดการป้อนเทปหรือปุ่มอื่นๆไปมา ก็จะสามารถกำเนิดเสียงอันเกิดจากการสั่นสะเทือนของกลไกของมันเองได้อย่างน่าทึ่ง เป็นเทคนิคที่นักเล่น Echo สายทดลองรู้จักกันดี จึงมีเทปเอคโค่รุ่นดังที่ตั้งชื่อว่า “Space Echo” ผลิตโดยบริษัท Roland เพราะเทปเอคโค่นั้นให้เสียงแบบอวกาศจริงๆ แน่นอนว่าเทปเป็นวัสดุที่สึกหรอได้ เมื่อใช้ Tape Echo ไปนานๆก็จำเป็นต้องเปลี่ยนเนื้อเทปใหม่ อายุการใช้งานของมันอยู่ที่ 200ชั่วโมง ถึง 300ชั่วโมงในรุ่นปรับปรุงรุ่นใหญ่ (RE-501)

Roland Chorus Echo RE-501
จากอายุของเครื่องชนิดนี้ (Roland RE-100 เกิดปี1973) พบว่ายังถูกนำมาใช้ในวงดนตรีแนวหน้ามากมายจนถึงทุกวันนี้ ที่จดจำได้ดีจากงานเพลงในแบบทดลองของวงดนตรีดังอย่าง Radiohead และก่อนหน้านั้นดนตรีร๊อคแอนด์โรลดั้งเดิม (Rockabilly) ใช้กันมากมายในซาวด์แบบ Slap back Delay อย่าง Brian Setzer จนกลายเป็นซาวด์ดนตรีชนิดนี้ไปเลย ต้องมี Slap back Delay ถึงจะเป็นดนตรีแนวนี้ได้ นอกจากนี้เทปเอคโค่ของ Roland รุ่น RE-201 หรือ Space Echo นี้ยังถูกใช้ในงานดนตรีอิเลคทรอนิคส์ในสมัยใหม่นี้เป็นอย่างมาก
แม้ Space Echo รุ่นดังนี้จะหาซื้อในสภาพใช้งานได้ดีไม่ง่าย แต่บริษัทที่ทำเอฟเฟคท์สำหรับกีตาร์ไฟฟ้าของ Roland ในปัจจุบันก็คือ Boss ได้ทำรุ่นใหม่ที่เลียนแบบมาด้วยเทคโนโลยีแบบดิจิตอลชื่อรุ่น RE-20 มาทดแทน

ศิลปินที่ใช้เทปเอคโค่ทำงานเพลงจนเป็นงานลักษณะเฉพาะที่บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์เพลง ได้แก่
Nick McCabe of The Verve
Brian Eno
Jonny Greenwood of Radiohead
Noel Gallagher of Oasis
Leftfield
Pink Floyd
Tim Simenon
Sonic Youth
Zombie Nation
Alan Vega of Suicide
Wata of Boris
Lee "Scratch" Perry
King Tubby

อ้างอิงจาก Wikipedia