วันอังคารที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2553

Jam Hub

สวัสดีครับ แวะไปเอาคอมมิวสิคเล่มใหม่ที่โรงเรียนปราชญ์มิวสิค ก็เห็นกล่องใหญ่ๆอันนึงวางไว้ จึงถูกวานให้นำกลับบ้านไปลองเล่นดู เจ้ากล่องที่ว่านี้ก็คือตัว Jamhub นั่นเอง เห็นลงโฆษณาในเว็บไซต์ต่างประเทศมาพักนึง ไม่นานก็มีผู้นำเข้ามาให้นักดนตรีบ้านเราได้เล่นกัน


จากรายละเอียดขณะยังไม่ได้แกะกล่อง แจมฮับ! คือทางเลือกใหม่สำหรับการซ้อมดนตรีโดยไม่ใช้เสียง กล่าวคือนักดนตรีทุกคนจะสามารถแจมดนตรีกันได้ในห้องสมมติโดยฟังอยู่ในหูฟังนั่นเอง

ห้องสมมติที่ว่าผู้ผลิตกำหนดมา 3 แบบ แจมฮับเลยผลิตมา 3 รุ่น ดังนี้
1. Bed Room หรือ ห้องนอนนั่นเอง คุณสามารถซ้อมดนตรีในห้องนอนดังแค่ไหนก็ได้ สูงสุด 5คน
2. Green Room สำหรับนักดนตรี 7 คน โดยขจัดปัญหาการแข่งกันดัง พกไปแจมที่ไหนก็ได้
3. Tour Bus มีระบบบันทึกเสียงในตัวเลย ระหว่างทัวร์คอนเสิร์ต เวลาที่คุณซ้อมดนตรีในรถหรือแจมดนตรีฆ่าเวลา ซึ่งอาจเกิดเพลงใหม่ๆขึ้น รุ่นนี้สามารถบันทึกเสียงไว้ได้โดยไม่ต้องพึงคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ภายนอก

ภายในกล่องมีอะไรบ้าง

เมื่อแกะกล่องมาลองดู แค่เห็นก็รู้วิธีใช้งาน แจมฮับเป็นกล่องรูปประมาณครึ่งวงกลม แล้วแบ่งเป็นส่วนๆเหมือนการตัดแบ่งเค้กหรือพิซซ่า โดยแต่ละส่วนก็มีปุ่มปรับเสียงสำหรับนักดนตรีแต่ละคน เมื่อเสียบปลั๊กแล้วก็ใช้ได้เลย


ในแต่ละส่วนนั้น สามารถต่อ ไมโครโฟนสำหรับร้องหรือพูด, Lineจากเครื่องดนตรี และหูฟัง สำหรับนักดนตรีแต่ละคนได้อิสระ เมื่อทุกคนที่ต้องการเข้ามาแจมก็สามารถเสียบเข้ามาในส่วนที่ว่างอยู่ ก็จะได้ยินเสียงจากนักดนตรีคนอื่นๆและของตัวเองได้ที่หูฟังของตัวเองทันที


ภาคการปรับเสียงนั้น จะมีปุ่มปรับความดังเสียงจากนักดนตรีแต่ละคนและของตัวเอง ดังเบาได้ตามต้องการ ช่วยให้นักดนตรีแต่ละคนสามารถมิกซ์เสียงของทุกคนได้ตามถนัดและที่ต้องการในหูฟังของตัวเอง ตย.เช่น ต้องการฟังเสียงกลองดังแต่ไม่ต้องการฟังเสียงกีตาร์โซโล่ดังมากนัก ในขณะที่นักดนตรีคนอื่นๆก็ต่างปรับตามใจชอบ จึงตัดปัญหาเดิมๆของการซ้อมดนตรีนั่นคือ ทุกคนพยายามจะแข่งกันดังกว่า เพราะต่างไม่ได้ยินเสียงของตัวเอง และเมื่อเสียงดนตรีดังมากๆก็จะไม่ได้ยินเสียงร้อง แต่ที่แจมฮับนั้น สามารถเพิ่มเสียงร้องได้โดยที่ไม่เกิดอาการไมค์หอน หรือ feedback

จากความสามารถนี้ดังนั้นแจมฮับจึงเหมาะกับการใช้งานหลายประเภททีเดียว นอกจากการซ้อมดนตรี
นอกจากการบาลานซ์ความดังของแต่ละเสียงของนักดนตรีได้ของใครของมันแล้ว ยังมีการเพื่มเสียง FX ให้กับไมโครโฟนของตัวเองได้ด้วย ใครชอบเอฟเฟคเยอะหรือน้อยก็ปรับได้เอง และสามารถปรับ Pan ตำแหน่งของตัวเองในวงเพื่อสร้างมิติในการฟังได้

ในการใช้งานตามวัตถุประสงค์นั้นจำเป็นจะต้องเป็นเครื่องดนตรีไฟฟ้าทั้งนั้น และต้องเป็น Stereo อีกด้วย สำหรับมือกลอง หรือ มือเพอร์คัสชั่นจึงต้องใช้กลองไฟฟ้าจึงสามารถแจมได้ และมือกีต้าร์, มือเบสก็เช่นกัน หากใช้ FX ประเภทจำลองตู้แอมป์และเอาท์พุทเป็นสเตอริโอนั้นจะได้ผลตรงตามการออกแบบมาก อย่างไรก็ตาม Jamhub ได้แถมหัวแปลงจากแจ๊คโมโนเป็นสเตอริโอมาให้ หากมือกีตาร์หรือมือเบสจำเป็นจะต้องเสียบตรงทันที จากการลองเสียบตรงแบบนี้ดูพบว่า เสียงที่ได้ออกมาไม่เลว ทั้งกีตาร์และเบสครับ Clean นุ่มครับ


เงื่อนไขอีกอย่าง คือ Headphone ที่ใช้นั้นควรจะมีคุณภาพดีพอควร จึงจะแจมได้อรรถรสเพียงพอ ทำให้นักดนตรีแต่ละคนนั้นเตรียมอุปกรณ์ส่วนตัวได้ตามความชอบเอง

แจมฮับบนโต๊ะสำหรับนักดนตรีแนว Desktop

ในกรณีที่นักดนตรีที่ต้องอยู่ห่างจากตัวแจมฮับที่เป็นศูนย์กลาง และไม่สะดวกที่จะเดินมาปรับบ่อยๆ เช่นมือกลอง, มือคีย์บอร์ด หรือมือกีตาร์จอมขี้เกียจ ก็มีตัวรีโมทสำหรับปรับมาให้เสียบหูฟังได้มาให้ ซึ่งมีสายยาว 3.6ม. สำหรับรุ่น Green Room นี้แถมรีโมทมาให้ 1 อัน


แจมฮับทุกรุ่นจะมีภาคของการมิกซ์เพื่อบันทึกเสียงอยู่ตรงแกนกลางของเครื่อง โดยสมาชิกนักดนตรีที่เป็นหัวหน้าวงหรือสามารถรับผิดชอบเรื่องการบาลานซ์ซาวด์รวมของวงดนตรีได้จะเป็นผู้ควบคุมส่วนนี้ ซึ่งต้องประจำที่ผู้เล่นเบอร์ 1 จึงจะสามารถเลือกฟังสลับระหว่างซาวด์ที่มิกซ์เพื่อบันทึกเสียงหรือซาวด์แบบที่ปรับเพื่อซ้อมของตัวเองได้
สำหรับผลที่ได้จากการปรับมิกซ์ซาวด์รวมของวงเพื่อบันทึกเสียงนั้น สามารถส่งไปยังคอมพิวเตอร์ทางสาย USB บันทึกเข้าตรงกับซอฟแวร์ที่คุณถนัดได้ทันที จากการทดสอบนั้นคุณภาพที่ได้เหมือนกับที่ได้ยินในเฮดโฟนทีเดียว โดยจะบันทึกไปเป็น 2 Tracks หรือ Stereo Mix ซึ่งเรียกว่าไม่ยุ่งยากอะไรเลย หากคุณต้องการต่อ เอาท์พุทในแบบ Analog Line out ไปยังเครื่องขยายเสียง PA ก็มีช่องเสียบแบบ Phone Stereo ได้ทันที ทีนี้การเล่นดนตรีที่ทุกคนสามารถปรับเสียงยังได้ตามใจ แล้วได้ผลรับออกไปกำลังดีก็ทำได้ง่ายดาย


ในส่วนของผู้เล่นคนสุดท้ายนั้นสามารถต่อกับไมโครโฟนแบบ Condenser ที่ต้องการ Phantom +48V ได้


สำหรับไอเดียในการใช้งานนอกเหนือจากการซ้อมดนตรีแล้ว คิดว่าในงานสอนดนตรีนั้นน่าจะมีความสะดวกอย่างยิ่ง
ในงานสอนดนตรีแบบตัวต่อตัวหรือแบบวงแล้ว บ่อยครั้งก็มีปัญหาในเรื่องการควบคุมความดังเสียง และทั้งยังต้องการการสื่อสาร สนทนาพูดคุยระหว่างผู้สอนและผู้เรียน การใช้แจมฮับประกอบการสอนน่าจะเป็นไอเดียที่ทำให้เกิดการพัฒนาในการฝึกซ้อม และที่สำคัญเสียงจะไม่ดังไปถึงห้องเรียนข้างๆแน่นอน

ในกรณีเครื่องอะคูวสติคที่มีเสียงเบา สามารถใช้ไมโครโฟนดึงเสียงให้ได้ยินชัดเจนในหูฟังได้สบาย

เนื่องจากจุดเด่นในเรื่องของการ monitoring จึงอาจจะนำไปประยุกต์ใช้ในงาน Live เพื่อทำงานแบบ Ears Monitor หรือแม้แต่การ Monitor ด้วย Loud Speaker ตามปกติ สามารถเสริมการใช้งาน Aux send ที่มีจำกัดของ Mixer board ได้

การ Monitoring ในงาน Live Studio Recording แน่นอนว่าคงช่วยเสริมให้การฟังใน Headphone ง่ายขึ้น

การทดลองใช้ในแบบอื่นๆนั้นสามารถพลิกแพลงทำนอกเหนือคู่มือได้ จึงอาจนำภาคไมโครโฟนไปใช้กับเครื่องดนตรีได้ตามใจ Jamhub จึงอาจเป็น Mixer ตัวใหม่ที่เป็นประโยชน์สำหรับนักดนตรีหลายๆแนว

สรุปข้อดีข้อด้อย
- ออกแบบสำหรับการ monitoring แบบ Headphone ที่ดี คงทำให้นักดนตรีที่ไม่ชอบใช้ “Headphone” กลับมาเรียนรู้ประโยชน์ข้อนี้ดู
- หากคุ้นเคยกับการทำงานแบบนี้ จะสามารถพัฒนาทั้งทักษะการฟังและการปรับวิธีเล่นเพื่อการฟังได้มากมาย
- อย่าลืมว่าเมื่อมีทักษะการฟังและการเล่นที่ดีแล้ว ในการทำงานแบบชีวิตจริงที่ไม่ใช้หูฟังก็ยังคงควบคุมได้ดีด้วย
- น่าจะออกแบบมาแบบใช้กับ Battery ได้ด้วย จึงจะเรียกว่าแจมได้ทุกสภาวะ
- คงต้องเตรียมอุปกรณ์เสริมให้พร้อมสำหรับการใช้งานที่ได้ผลกับนักดนตรีทุกคน
- ลองเองดูครับ

เมื่อ Jamhub มาเยือนหนุ่มๆที่ร้าน Music Collection

แผนภาพวิธีการต่อใช้งานทั่วไป