วันอาทิตย์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

Analog Synthesiser by Nord Wave

เมื่อสองเดือนที่แล้วผมได้รับความเอื้อเฟื้อจากบริษัทออดิทรัลโปรให้ยืมซินทิไซเซอร์รุ่นใหม่ล่าสุดจากสวีเดน มันมีชื่อว่า Nord Wave ซึ่ง ในอุตสาหกรรมเพลงบ้านเรานั้นไม่ค่อยได้ใช้เครื่องดนตรีประเภทนี้เท่าไหร่ นอกจากผู้ที่มีความสนใจส่วนตัวจริงๆ ไม่ก็เป็นผู้ที่ทำเพลงแนวอิเลคทรอนิคส์ หรืองานออกแบบเสียง (แต่จริงๆไม่เกี่ยวกับแนว) ที่สำคัญราคาของเจ้าเครื่องนี้นั้นจัดว่ามากเอาการ ถ้าหากใครไม่รู้ว่าจะนำไปใช้อะไรยังไง ถ้าไม่มีเงินเหลือเฟือก็คงไม่กล้าลงทุนซื้อมาลองเล่นๆดู อันที่จริงผมก็เป็นผู้ที่สนใจเครื่องดนตรีประเภทนี้ควบคู่กับเรื่อง ซอฟท์แวร์มาตลอด ทำให้มีไอเดียถึงเนื้อหาที่จะเขียนต่อไปเป็นเรื่องของซินทิไซเซอร์นั่นเอง ซึ่งไม่ใช่อิเลคทรอนิคส์คีย์บอร์ดหรือเปียโนที่เห็นในปัจุบันนี้ แต่เป็นแบบที่เรียกว่า อะนาล็อกซินฯ นั่นคือซินยุคต้นแบบ เป็นไงนั้นลองติดตามอ่านไปซักนิดครับ

เครื่องมือที่เรียกว่า Analog Synthesizer นี้ เป็นอุปกรณ์สำคัญมาช้านานของนักแต่งเพลง ไม่ใช่เพราะมันแค่สามารถสังเคราะห์เลียนเสียงเครื่องดนตรีต่างๆได้ แต่เพราะเรนจ์ของเสียงที่กว้างขวางของมันและความอิสระของ Pitch เหล่านักดนตรีทั้งหลายจึงให้ความสนใจมัน หากคุณได้ติดตามหน้าประวัติศาสตร์ของดนตรีทั้ง Jazz และ Rock&Roll มา ตั้งแต่ยุค 60 ก็ได้นำเครื่องดนตรีประเภทนี้มาใช้อย่างน่าอัศจรรย์ และมันก็ไม่ใช่งานของนักวิทยาศาสตร์เท่านั้น



Kraftwerk วงดนตรีที่มีผลงานตั้งแต่ปี1970มาจนถึงปัจจุบัน พวกเค้าใช้เครื่องดนตรีแบบอิเลคทรอนิคส์และเป็นต้นแบบดนตรีแนว Kraut Rock


พักเรื่องประวัติศาสตร์ไว้นิด การที่คุณจะเริ่มใช้ซินทิไซเซอร์สังเคราะห์เสียงคล้ายๆกับแบบที่ต้องการขึ้น มาได้นั้น คุณจะต้องศึกษาเรื่องของ Waveform หรือรูปคลื่น (เสียง) และการผสมคลื่น (Modulation) และ ยังต้องชอบสังเกตเครื่องดนตรีต่างๆ ลักษณะการเกิดเสียงของมัน สั้น-ยาว เร็ว-ช้ายังไง รวมไปถึงเสียงต่างๆที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ เราจะเอาข้อสังเกตต่างๆเหล่านั้นมาเป็นข้อมูลเพื่อใช้ในการสังเคราะห์ เสียงอย่างมีหลักการหรือนอกหลักการได้เป็นอย่างดี


Waveform พื้นฐานนั้นได้แก่ Sine Wave, Triangle Wave, Saw(tooth) Wave, Square Wave

ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา อะนาล็อกซินทิไซเซอร์นั้นก็ใช้เจ้าคลื่นหน้าตาพื้นฐาน 3-4 ตัวนี้ กับเสียง Noise อีกตัวมาผสมกันเป็นเสียงต่างๆได้ เมื่อผมได้เห็นเจ้า Nord Wave และเล่นดูก็พบว่ามันยังคงวิธีการแบบเดิมไว้ทั้งสิ้น ผมจึงขออนุญาติใช้มันเป็นต้นแบบในการเขียนเรื่อง Analog Synth นี้ต่อไปเลยล่ะกัน ซึ่งอาจจะไม่ได้เล่าแบบ 1 ไป 10 เพื่อความเข้าใจไปทีละนิด


หน้าตาของ Nord Wave

Analog Synth ตัวแรกๆนั้นสามารถเล่นได้ทีละโน้ตเท่านั้น (กดเป็นคอร์ดไม่ได้) เราเรียกว่า monophonic synth มันจึงมักถูกใช้เป็นเครื่องดนตรีประเภท Lead หรือ Bass Line สำหรับรุ่นที่ต่อๆมาพัฒนาให้กดได้มากกว่านั้น จึงกลายเป็น Polyphonic Synth จึงมักจะถูกใช้ทำเสียงพวก Chords Pad หรือ Strings เพียงแค่นี้ทั้งสองแบบนี้ก็กลายเป็นคนละเครื่องดนตรีเพราะมีวิธีเล่นที่ต่างกัน บน Nord Wave นั้นสามารถเป็นได้ทั้งสองแบบ โดยจะมีปุ่มกดให้เป็น mono mode เพื่อใช้เทคนิคการเล่นแบบ Lead Synth บนคีย์บอร์ดได้


ใกล้ๆปุ่ม mono mode มีปุ่ม legato ที่ทำให้เสียงโน้ตลากยาวค้างไปตลอด เมื่อเล่นคีย์บอร์ดจะเปลี่ยนแค่ pitch เท่านั้น นี่ก็เป็นเทคนิคนึงในการเล่นแบบ Lead ใน Analog Synth อื่นๆจะเป็นสวิตซ์ที่เขียนว่า Hold

และใกล้ๆอีกจะมีปุ่มหมุนเขียนว่า Glide เมื่อหมุนไปซักนิดนั้น จะทำให้เวลาที่คุณเล่นโน้ตใดค้างไว้แล้วเล่นโน้ตตัวต่อไป เสียงโน้ตตัวแรกจะโหนไปหาตัวที่สอง ใน Analog Synth อื่นๆจะเป็นปุ่มหมุนหรือ Fader ที่เขียนว่า Portamento

ทั้ง Glide และ Legato นี้เป็นเทคนิคอันโดดเด่นในวิธีการเล่นแบบ Lead Synth ซึ่งบน Nord Wave นั้นจัดไว้ใกล้กันเพื่อง่ายต่อการเรียกใช้


Front Panel – ฟร้อนท์พาเน่ล หรือ แผงควบคุมด้านหน้า


ก็คือแผงหน้าที่มีปุ่มไว้ปรับค่าต่างๆนั่นเอง
บนพาเน่ลของ Nord นั้นแบ่งออกเป็น 3ส่วนใหญ่ๆคือ
- Program and Performance area เป็นส่วนที่ใช้เลือกโปรแกรมเสียงและควบคุม Master Level
- Synth area ส่วนนี้ จะมีปุ่มสำหรับปรับแต่งค่าของ Synth
- Effect area ส่วนนี้เป็นการตั้งค่าเอฟเฟคท์เพิ่มเติม


บนส่วน Program จะมี LCD (แอลซีดี) จอสีฟ้าสำหรับแสดงผลเป็นตัวหนังสือในขณะเลือกเสียงหรือกำลังปรับค่าต่างๆ สำหรับอุปกรณ์ที่เรียกว่า LCD นี้ ตัว “L” มาจาก “Liquid” (ลิควิด) แปลว่า ของเหลว ซึ่งบนหน้าจอของ LCD นั้นภายในมีของเหลวที่ใช้กระแสไฟฟ้ากระตุ้นให้แสดงผลเป็นรูปหรือตัวหนังสือต่างๆได้ ซึ่งเรามักจะเห็นจอแบบนี้มาตั้งแต่หน้าปัดนาฬิกาดิจิตอลยุคแรกๆ หรือพวกเกมกดยุคแรก และพัฒนาต่อไปจนแสดงเป็นภาพสีได้


Knob and Dial


Knob หรือ น็อบ ก็คือปุ่มหมุนใช้ปรับค่าต่อเนื่องต่างๆ เช่น โวลุ่ม ที่เราใช้มาตลอด เป็นลักษณะหมุนไปสุดขอบซ้ายขวา


Rotary Dial โรตารี่ ไดล์ เป็นปุ่มหมุนแบบไม่ต่อเนื่อง คือเวลาหมุนจะดังและเลื่อนไปทีละแกร๊ก และจะหมุนได้รอบ วิธีการคือมันจะเพิ่มค่าทีละ 1 เมื่อหมุนตามเข็มนาฬิกา และลดค่าลงทีละ 1 เมื่อหมุนย้อนเข็ม มักพบในกรณีต้องปรับค่าที่ต้องการความเที่ยงตรง สำหรับบน Nord Wave มีโรตารี่ ไดล์ตัวใหญ่อยู่ 1 ตัวข้างๆจอ LCD ถ้าคุณกำลังปรับค่าใดๆด้วยน็อบนั้นๆอยู่ ที่จอ LCD ก็จะแสดงค่าที่กำลังปรับอยู่เป็นตัวเลข ค้างไว้ เราสามารถใช้โรตารี่ไดล์ปรับต่อซึ่งจะง่ายในการไปยังค่าที่ต้องการได้เที่ยงตรง สะดวกต่อจากใช้น็อบแบบธรรมดา ในการเลือกโปรแกรมเสียงไปทีละเบอร์ก็ไดล์จากปุ่มนี้เช่นกัน


LED Dials ก็เหมือนกับ โรตารีไดล์ นั่นเองแต่จะมีจอแบบ “LED” แสดงผลค่าของมันเองเป็นตัวเลข ซึ่งจะได้เลือกรูป Waveform ของ OSCillator ในส่วนของ Synth
สำหรับอุปกรณ์ที่เรียกว่า LED ตัว L นั้นมาจาก “Light” แปลว่าแสง ซึ่งทำมาจากอุปกรณ์อิเลคทรอนิคส์ที่เรียกว่าไดโอดที่ปล่อยแสงได้เมื่อมีกระแสไฟฟ้าเข้าไปถูกทาง ต่างจาก LCD โปรดระวังสับสน
ในการแสดงผลด้วย LED ให้มองเห็นเป็นตัวเลข จึงใช้ไดโอดเรืองแสงที่ว่านี้ 7 ตัวมาต่อวงจรกัน เราเรียกชื่อเทคนิคนี้ว่า 7 Segment LED เพราะเราสามารถเขียนตัวเลข 0-9 ได้จากการขีดเส้น 7 เส้น ในนี้อาจจะเพิ่มตัวที่ 8 เพื่อแสดงผลเป็นจุดทศนิยม


รูปจาก http://www.lc-led.com/Catalog/department/36/category/49


Master Level Knob ใช้ควบคุมความดัง ซึ่งควรใช้แบบน็อบธรรมดาเพื่อเปิดหรี่เสียงได้ทันตามความรู้สึกที่คุ้นเคย นั่นเพราะ Nord Wave ออกแบบมาเพื่อใช้ในการเล่นสดได้ดี แต่บนอุปกรณ์ในสตูดิโอที่ใช้ทำงาน Mastering เสียง มักจะเป็นแบบโรตารี่เพราะมันจะได้ตั้งค่าความดังได้เที่ยงตรงทุกครั้งไป


Buttons – ปุ่ม



Selector Buttons หรือปุ่มกดเลือกค่า ใช้วิธีการง่ายโดยกด 1ครั้ง ก็จะเปลี่ยนไปทีละค่า มักใช้เวลาที่มีค่าให้เลือกไม่เยอะนัก ในการเลือก Wave Form ในส่วนของ LFO เมื่อกดปุ่มเลือกไฟก็จะติดตำแหน่งที่รูป Wave form นั้นๆ เริ่มจาก Square Wave ไป Sawtooth และ Triangle ตามลำดับ และถ้ากดต่อไป ไฟจะติดสองดวงที่ Square และ Saw นั่นหมายถึง Waveform ของ LFO จะเป็น Random pulse และถัดไปก็คือ Random Sine…


On/Off Buttons ปุ่มเปิดปิดค่าต่างๆบน Nord Wave ใช้กดหนึ่งทีเปิดกดอีกทีปิดโดยแสดงด้วยไฟ LED หนึ่งดวง


Shift Button ในปุ่มปรับค่าต่างๆรวมทั้งน็อบ บางปุ่มจะมีสองฟังก์ชั่นในปุ่มเดียว คือใช้ปรับได้สองค่า เราจะกดปุ่ม Shift นี้ค้างไว้ เพื่อปรับค่าที่ซ่อนอยู่ลำดับที่สอง


ทำความเข้าใจเรื่อง Envelope


กลับจากวิธีการใช้ปุ่มต่างๆมาเรื่องของ Synth กันต่อ เรามักจะพบตัวหนังสือที่เขียนว่า ADSR บน Synth หรืออิเลคทรอนิคส์คีย์บอร์ดทั้งหลายผ่านตามาบ้าง ADSR นั้นมาจากคำว่า Attack, Decay, Sustain, Release ตามลำดับ ซึ่งรวมเรียกว่า Envelope ค่าเหล่านี้มีจะใช้หน่วงเวลาในการกระทำต่างๆบน Sythesizer ตัวอย่างที่พบอยู่ตลอดคือการใช้ ADSR กับความดังของเสียงเวลาเล่นด้วยคีย์บอร์ด

บน Nord Wave จะมีส่วนของ MOD ENV ซึ่งจะมีน๊อบปรับค่า Attack และ Decay/Release ง่ายๆสองค่า

พิจารณาความเข้าใจง่ายๆ คีย์บอร์ดก็เป็นแค่สวิตช์ เหมือนสวิตช์เปิดปิดไฟ (Gate) กดเปิดก็สว่างทันที กดปิดก็มืดทันที (ไม่นับไฟนีออนที่ Starter เสียนะครับ) เมื่อเรากดคีย์บอร์ดลงไปเสียงจะดังออกมาทันที และเมื่อเราปล่อยคีย์นั้นเสียงก็จะเงียบทันที แต่ถ้าเราเลือกใช้สวิตช์ไฟแบบมี dimmer ปรับความสว่างได้ ช่วงที่เราจะปรับ dimmer ให้ไฟสว่างสุดและค่อยๆหรี่จนมืดไปเปรียบกับการเปิดปิดแบบมี Envelope นั่นเอง การกำหนดให้ Envelope มีผลต่อความดังของเสียงเมื่อเล่นด้วยคีย์บอร์ดไว้ เสียงที่ดังออกมาและกำลังจะเงียบลงไปมีลักษณะนุ่มนวลคล้ายกับธรรมชาติได้
เปรียบเทียบกับการเกิดเสียงจากการเล่นเครื่องดนตรีอะคูวสติก ในจังหวะที่ดีดสายกีตาร์ลงไปจะเกิดเสียงขึ้นมาครั้งแรกสุดเราเรียกว่าเสียง “กระแทก” หรือ “Attack” ซึ่งเกิดจากปิ๊กกีตาร์ หรือจะเป็นเล็บหรือมือ กระทบกับสายดังขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆนี้และหายไปทันที ต่อจากนั้นจะเป็นเสียงสายกีตาร์สั่นดังต่อไปช่วงเวลานี้เราเรียกว่า เสียงยังคง Sustain ต่อไป และค่อยๆเงียบในที่สุด (Release)


จากรูป เมื่อกดคีย์ลงไป (Key Down) เสียงจะใช้เวลาสั้นๆในการดังขึ้นมาแล้วเงียบลงไป เมื่อเสียงขึ้นไปจนดังสุดช่วงเวลาต่อจากนั้นที่เสียงกำลังเงียบลงไปอย่างรวดเร็วเราเรียกว่า Decay (แปลว่าการเสื่อมลง) ดังนั้นการปรับให้ Synth เล่นเสียงที่ Attack เร็วและสั้น จะต้องปรับให้ค่า Attack และ Decay น้อยที่สุด ซึ่งหากมี Decay ที่สั้นมาก แม้จะกดคีย์บอร์ดค้างต่อไปก็ไม่มีเสียงแล้ว ลองสังเกตเสียงเปียโนหรือเครื่องดนตรีอะคูวสติกอื่นๆนั้นมีความสั้นยาวของ Decay เป็นยังไง


รูปที่สองหลังจากที่กดคีย์ลงไป (Key Down) แล้วยังกดแช่ไว้ ช่วงเวลานี้คือ Sustain ซึ่งเสียงยังคงดังต่อเนื่องไป แต่เมื่อปล่อยคีย์ (Key Up) แล้วเสียงค่อยๆเงียบลงไปนั่นคือเสียงใช้เวลาในการ Release (ปล่อย) อยู่ไม่นานนัก ถ้าเสียงเงียบลงทันทีนั่นคือช่วงเวลา Release เป็น 0

ในทางปฏิบัติเมื่อเราเล่นดนตรีเราสามารถควบคุมให้เสียงที่เราเล่นดังเบาได้ตามวิธีการฝึกของเครื่องดนตรีชิ้นนั้นๆ หากเราสังเกตสำเนียงในการเล่นดนตรีในแต่ละโน้ตของเรา และลองปรับบน Synthesizer ด้วย ADSR Envelope นี้ น่าจะพอจินตนาการในการออกแบบเสียงด้วย Analog Synthesizer ได้ดี บน Synthesizer ที่ Advance นั้นยังใช้การตั้งค่า ADSR ให้กับการเล่นแบบอื่นๆเช่น น๊อบบนค่าอื่นๆซึ่งจะทยอยมาลงต่อๆไป

ไม่มีความคิดเห็น: